วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การทุจริตในการวิจัยวิทยาศาสตร์

วงการฟิสิกส์ยอมรับว่า Bell Laboratories อันเป็นสถาบันปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่ที่ Murray Hill ในรัฐ New Jersey ของสหรัฐอเมริกาเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะเมื่อ 46 ปีก่อนนี้ Walter Brattain, William Schockley และ John Bardeen ซึ่งทำงานประจำที่นี่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ และในปี 2521 Robert Wilson กับ Arno Penzias แห่ง Bell Labs เดียวกันนี้ ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการได้ยินเสียงจักรวาลระเบิด (big bang) เป็นคนแรก เมื่อ 13,000 ล้านปีก่อนโน้นเช่นกัน นี่เป็นเพียงบุคคลเพียงไม่กี่คนในจำนวนนับหมื่นที่ทำงานที่ Bell Labs ซึ่งต่างก็ได้สร้างผลงานคุณภาพที่ทุกคนไว้ใจว่าถูกต้อง และสำคัญตลอดมา

แต่เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2545 สถาบันนี้ก็ประสบภาวะวิกฤติ เมื่อคณะผู้บริหารของสถาบันได้ออกแถลงการณ์ยอมรับว่า Jan Hendick Schon นักฟิสิกส์วัย 32 ปี ผู้ได้ทำงานมานาน 4 ปี เป็นนักฟิสิกส์จอมลวงโลก เพราะผลงาน 17 ชิ้นที่เขาตีพิมพ์ในวารสารวิจัยชั้นนำของโลก มีข้อมูลที่เป็นเท็จมากมายเช่น Schon ได้อ้างว่า C60 ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า Buckminster fullerene นั้น สามารถเป็นตัวนำยวดยิ่ง (superconductor) ได้ที่อุณหภูมิ -221 องศาเซลเซียส หรือการที่ Schon อ้างว่าเขาสามารถทำให้พลาสติกบางประเภทเป็นตัวนำยวดยิ่งได้ ฯลฯ ซึ่งผลงานเหล่านี้แต่ละชิ้นได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการฟิสิกส์มาก เพราะสำคัญพอที่จะอยู่ในสายตาของคณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ทั้งสิ้น และเมื่อ Schon สามารถผลิตงานวิจัยได้เร็วถึง 8 วันต่อผลงาน 1 ชิ้น ซึ่งในประวัติศาสตร์ของฟิสิกส์ไม่มีใครเคยทำงานได้ผลมากและดีเท่านั้น ใครๆ จึงพากันคิดว่า Schon คือ Tiger Woods ของฟิสิกส์เป็นแน่ เพราะทุกคนต่างก็รู้สึกทึ่งในความสามารถที่ล้นเหลือ และโชคที่ล้นหลายของ Schon ไปตามๆ กัน

แต่เมื่อนักฟิสิกส์บางคนอ่านงานวิจัยของ Schon กับคณะแล้ว ได้พยายามทำการทดลองซ้ำ โดยใช้สารตัวอย่างและวิธีการเดียวกับที่ Schon ทำ เขากลับไม่ได้ผลลัพธ์ดังที่ Schon กล่าวอ้างในวารสารเลย คนหลายคนจึงอดแปลกใจสงสัยไม่ได้ว่า บรรดากราฟและตัวเลขที่ Schon นำเสนอนั้น เป็นตัวเลขเลื่อนลอย หรือเป็นกราฟในจินตนาการกันแน่

ความผิดพลาดอย่างมหันต์ของ Schon เกิดขึ้น เมื่อกราฟที่ Schon นำเสนอในการทดลองเรื่องสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) กับในเรื่องตัวนำยวดยิ่งเป็นกราฟเส้นเดียวกัน ทั้งๆ ที่สารทั้งสองมีความแตกต่างกันมาก

เมื่อข้อมีกล่าวหา และมีผู้กล่าวหา คณะผู้บริหารของ Bell Labs จึงได้ตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลภายนอกเป็นหัวหน้าพิจารณาข้อกังขา คณะผู้สอบสวนได้สัมภาษณ์ Schon และคณะวิจัยที่ทำงานร่วมกับ Schon ได้ตรวจสอบเทปคอมพิวเตอร์ที่ Schon ใช้และตรวจห้องปฏิบัติการที่ Schon ทำงาน จนได้ข้อสรุปว่า Schon คดโกงตัวเลขอย่างเจตนา

เมื่อหลักฐานการทุจริตปรากฏชัด และผู้กระทำผิดยอมรับ Schon ก็ถูกไล่ออกจากงานทันที

ถึงแม้ชีวิตทำงานของ Schon จะจบสิ้น แต่ผลกระทบที่เกิดจากการคดโกงดังกล่าว ก็ยังไม่จบสิ้น เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องสูญเสียเงินทองให้นักวิจัยอื่นทำการทดลองหาสิ่งที่ไม่มีในธรรมชาติ และนักวิจัยเองก็ต้องเสียเวลาค้นหาสิ่งที่ไม่มี และเพื่อป้องกันการทุจริตอีก Bell Labs จึงได้วางกฎเกณฑ์ใหม่ว่า ให้นักวิจัยที่ต้องการส่งผลงานออกไปลงพิมพ์ในวารสารต้องเผยแพร่ ผลงานดังกล่าวให้นักวิจัยคนอื่นๆ ที่ทำงานประจำที่ Bell Labs อ่านก่อน เพื่อเป็นการตรวจสอบเบื้องต้น

ส่วนกองบรรณาธิการวารสารที่ลงพิมพ์งานวิจัยนั้นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะคนทุกคนตระหนักว่า ระบบการตรวจสอบคุณภาพของงานวิจัยจะต้องรอบคอบมากขึ้น และดีขึ้น

แต่ในโลกของความจริงนั้น นักวิทยาศาสตร์ทุกคนรู้ดีว่า วงการนี้มีการแข่งขันกันมาก และทุกคนต้องการให้ผลงานของตนได้รับการตีพิมพ์เร็วและมาก เพราะจะได้ชื่อเสียง ตำแหน่งทางวิชาการหรือทุนวิจัย ดังนั้นแทนที่จะทำงานอย่างรอบคอบ นักวิจัยที่คดโกงก็จะรีบเขียนผลงานขึ้นมาโดยใช้ตัวเลขปลอม หรือทฤษฎีที่เหลวไหลแล้วส่งผลงานไปยังกองบรรณาธิการของวารสารเพื่อรับการพิจารณาลงพิมพ์ ถ้าบรรณาธิการวารสารแต่งตั้งผู้ประเมินไม่อ่านหรือไม่ตรึกตรอง ผลงานชั่วชิ้นนั้นก็จะหลุดออกสู่บรรณโลกทันที แต่ถ้ากรรมการประเมินมีเวลาทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วน ผลงานนั้นก็จะถูกปฏิเสธการลงพิมพ์

แต่เราก็คงต้องยอมรับว่า จะมีกรรมการประเมินบางคนที่ทำงานไม่ละเอียด ที่ไม่ยอมเสียเวลาอ่านและตรวจสอบงานที่ตนกำลังประเมิน กรรมการลักษณะนี้จึงจับเท็จ จับโกหกหรือจับโกงไม่ได้ และเมื่อการตรวจผลงานนั้น บางครั้งก็ไม่มีเงินสมนาคุณค่าตรวจให้ กรรมการประเมินจึงอาจทำงานแบบไร้แรงจูงใจ และไร้ความรอบคอบได้ นอกจากนี้เมื่อวารสารวิชาการทุกวารสารมีนโยบายแข่งขันกันในการนำเสนอผลงานที่สำคัญอย่างเร่งด่วน เพื่อการได้ศักดิ์ศรีว่าเป็นวารสารชั้นนำ ดังนั้นในบางครั้งกรรมการประเมินก็อาจทำงานอย่างเร่งรีบ โดยไม่ตรวจสอบอย่างละเอียดใดๆ

เหตุผลทั้งหลายทั้งปวงตามที่กล่าวมานี้ มีส่วนทำให้เราเห็นการตรวจสอบงานวิจัยของวารสารว่ามีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขมากมาย และเมื่อไม่มีระบบตรวจสอบใดที่ดีเลิศประเสริฐศรี 100% วงการวิชาการจึงยังยอมรับว่า การเลือกผู้ประเมินที่เหมาะสมเป็นมาตรการตรวจสอบที่ดีที่สุด

ก็ในเมื่อเราไม่มีทางทำให้นักวิทยาศาสตร์ทุกคนเป็นคนตรงได้ หนทางที่ดีที่สุดคือ ต้องหาทางไม่ให้คนคดเหล่านั้นมีโอกาสเผยแพร่ผลงานของตน ในวารสารใดๆ โดยใช้ผู้ประเมินที่มีคุณวุฒิและมีเวลาให้กับการประเมินอย่างเต็มที่ และเมื่อเราไม่มีวันมีผู้ประเมินคนใดที่มีสเป็กดังกล่าวนี้ นักวิทยาศาสตร์ที่อ่านบทความที่นำเสนอในวารสารก็น่าจะเป็นผู้ประเมินที่ดีที่สุด

ชีวิตของ Schon ให้บทเรียนแก่เราว่า หากใครคิดจะโกงก็อย่าโกงมาก อย่าโกงบ่อย หรือโกงตลอดเวลาเช่น Schon เพราะผู้คนที่เขาอ่านงานวิจัย เขาจะทึ่ง เขาจะสนใจแล้วเขาก็จะตรวจสอบ แล้วเขาก็จะจับได้ว่าเราโกง แล้วเราก็จะไม่เหลืออะไร เรื่องนี้ผมหมายถึงการคอร์รัปชั่นด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น