วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

อยากรู้ไหมว่า"การต่อสู้แบบอหิงสา"เป็นยังไง

อหิงสา เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง การไม่เบียดเบียนหลักในการต่อสู้แบบอหิงสาหรือสันติวิธี คือไม่ใช้ความรุนแรงเรียกการต่อสู้ลักษณะเช่นนี้ว่า ยุทธวิธีไร้ความรุนแรง
เป็นการยากที่จะกล่าวถึงอหิงสาโดยละเลย “คานธี” ผู้นำชาวอินเดียที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอินเดียจากการยึดครองของอังกฤษ โดยใช้ยุทธวิธีอหิงสาเป็นหลักในการต่อสู้ คานธี เชื่อว่าอหิงสามิใช่ "การหลบลี้หนีหน้าจากการต่อสู้กับความชั่วร้าย" อย่างที่มักจะมีผู้เข้าใจผิดว่า วิธีการต่อสู้แบบอหิงสาคือการนิ่งเฉยไม่ไยดีกับเรื่องต่าง ๆ ในทางตรงกันข้าม อหิงสาคือการต่อสู้กับความชั่วร้าย ความอยุติธรรม ความรุนแรง ฯลฯ ด้วยวิถีทางของจิตใจและศีลธรรม โดยหลักเบื้องต้นและพื้นฐานที่สุดก็คือการหลีกเลี่ยงที่จะใช้ความรุนแรงและตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม หากแต่จะอาศัยพลังแห่งความจริง ความรัก และความเมตตา กระตุ้นเตือนให้อีกฝ่ายสำนึกตระหนักในความเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจเบียดเบียนและใช้ความรุนแรงกับคนอื่นได้

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการต่อสู้แบบอหิงสาก็คือการอดอาหารประท้วง เพราะในขณะที่ผู้ประท้วงทำให้ตัวเองลำบากโดยการอดข้าวอดน้ำอยู่ นั่นคือการสื่อสารทางจิตวิญญาณสื่อสารกับ “หัวใจ” (ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของความรักความเมตตา) ของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้เขาสำนึกในความเป็นมนุษย์ที่มีความเมตตา สงสาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่รุนแรง อยุติธรรม ฯลฯ ในที่สุด ในแง่นี้จะเห็นว่า อหิงสาหรือสันติวิธีเป็นแนวทางการต่อสู้ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในความดีงามของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม สันติวิธีในแบบของคานธีก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความผูกพันกับศาสนาอยู่ค่อนข้างสูง คานธี เคยกล่าวว่า “When there is ahimsa, there is truth and truth is God” ชัยชนะของสันติวิธีแบบนี้จึง "รับได้” ในทางจิตวิญญาณมากกว่าโลกของกายเนื้อ และทั้งต้องมีความศรัทธาในศาสนาและอดทนต่อความยากลำบาก ความทุกข์ทรมานที่จะได้รับจากการประท้วงเช่นนี้มากทีเดียว

หากแต่สันติวิธีในทางสังคมวิทยาไม่ได้ขึ้นอยู่กับศรัทธาทางศาสนา ทฤษฎีของยีน ชาร์ป (Gene Sharp) กลับพุ่งไปที่เรื่องของ "อำนาจ” เขาเน้นว่าอำนาจไม่ใช่สิ่งซึ่งทรงพลังโดยตัวของมันเอง แต่เป็นเรื่องของการยอมรับ การเชื่อฟัง อำนาจจึงจะดำรงอยู่ได้ ดังนั้นการต่อสู้กับ “อำนาจ" สำหรับแนวทางอหิงสาหรือสันติวิธีทางสังคมวิทยาแล้ว ก็คือการปฏิเสธอำนาจ การไม่ยอมรับ การไม่เชื่อฟัง ไม่ให้ความร่วมมือ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งซึ่งรับรู้ได้ในโลกวัตถุ

ในแง่นี้ สันติวิธีก็ยังเป็นแนวทางที่เคารพในมนุษย์ ในอำนาจที่มนุษย์สามารถกระทำได้ เช่น การไม่ซื้อสินค้าจากบริษัทที่คดโกง ขูดรีด ไม่รับฟังข่าวสารจากสื่อมวลชนที่ไม่เป็นกลางไปจนถึงการไม่ให้ความร่วมมือและไม่เชื่อฟังรัฐที่ปกครองโดยไม่ชอบธรรม ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นอำนาจที่ปัจเจกบุคคลสามารถกระทำได้ทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น