หลายทฤษฎีที่ใช้อธิบายเหตุผลว่า ทำไมคนเขตร้อนจึงกินพริก บางทีเป็นเพราะพริกช่วยขับเหงื่อ ทำให้ความร้อนในกายถูกระบายออกมามากขึ้น บ้างก็ว่าพริกมีสารเคมีที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ช่วยกันบูด อาหารของคนเขตร้อนบูดเน่าง่าย พริกจึงได้รับความนิยมใช้เป็นสารกันบูดจากธรรมชาติ ข้อนี้น่าฟังดี เพราะคนใต้เวลาทำขนมหวานที่มีกะทิ เช่น ลอดช่อง ข้าวเหนียวทุเรียน ชาวบ้านจะเอาพริกขี้หนูสีแดงแปร๊ดใส่ลอยลงไปเหมือนคนที่ภาคกลางลอยมะลิ ผมถามว่าทำเพื่ออะไร ชาวบ้านตอบว่าทำให้กะทิอยู่ได้นาน ไม่บูด ยังเคยเอามาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่า ลอดช่องน้ำกะทิของคนใต้ใส่พริกเป็นเม็ด เพื่อนหัวเราะนึกว่าเราพูดเล่น
พอล โรซิน นักจิตวิทยา และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย อธิบายปรากฏการณ์กินเผ็ดว่าเป็น "Constrained Risk" เขากล่าวว่า การกินเผ็ดจะให้ความรู้สึกแก่มนุษย์คล้ายคลึงกับการตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวหรือวิตกกังวล โดยไม่มีอันตรายคุกคามจริง เป็นอาการเดียวกับคนที่กระโดดร่มหรือเล่นรถไฟตีลังกา เมื่อหมดความรู้สึกกลัว เราก็จะปลอดโปร่งโล่งใจและมีความสุข พอล โรซิน สันนิษฐานว่า ขณะที่เราเผ็ดจนหูลั่น ตาลาย เหงื่อแตกนั้น ความเผ็ดจะไปกระตุ้นสมองให้หลั่งสารเอนโดฟิน (Endorphins) ในสมองส่วนกลาง ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน สารเอนโดฟินนี้รู้จักกันดีว่าเป็นตัวสร้างความสุข ดังนั้นเมื่อทานอาหารรสเผ็ดจัด ผู้ทานจะเกิดความสุขไปพร้อมๆ กัน และเป็นเหตุให้อยากเพิ่มขนาดพริกขึ้นทีละน้อยเพื่อให้ได้ความสุขมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น