“บางสิ่งที่อยากจำเรากลับลืม บางสิ่งที่อยากลืมเรากลับจำ คนเรานี้คิดให้ดีก็น่าขัน อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ”
เป็นท่อนฮุกของบทเพลงของ เดอะฮอท เปปเปอร์ ซิงเกอร์ นักร้องสาวดูโอที่เคยโด่งดังมากในอดีตเมื่อสมัยดิฉันเป็นวัยรุ่น เชื่อว่าหลายๆ ท่านก็เคยโดนใจและเห็นด้วยกับประโยคที่ว่านั่นกันมาบ้างแล้ว
ตอนฟังบทเพลงๆ นั้นยังจำได้ว่าเห็นด้วยและชื่นชอบจัง
และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ “จำ” บทเพลงนั้นได้จนถึงทุกวันนี้
เพียงแต่วันนี้เข้าใจแล้วว่าทำไมคนเราอยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ...!!
เพราะมันเกี่ยวข้องกับสมองโดยตรงของเรานั่นเอง
สมองคนเรามีความจำแบบไหน ?
แบบที่มีการจำอัตโนมัติ มีทั้งการจำผ่านการท่องซ้ำๆ และมีการจำแบบมีเรื่องราว เหตุการณ์ รวมถึงจำแบบมีการเชื่อมโยง
ส่วนเรื่องที่คนเรามักจะจดจำมีเรื่องอะไร แบ่งคร่าวๆ ในเรื่องหลักๆ ได้ดังนี้
- จำภาษา คำพูด
- จำบุคคล สถานที่ ตัวเลข
- จำเหตุการณ์เรื่องราว
แต่...ก่อนที่คนเราจะเกิดความจำขึ้นมาได้ ต้องมีการรับข้อมูลต่างๆ ก่อน
เริ่ม จากเมื่อมีข้อมูลผ่านเข้ามาในสมอง ข้อมูลจะถูกส่งไปที่สมองส่วนกลาง (ธาลามัส) ซึ่งทำหน้าที่เป็นโอเปอร์เรเตอร์ในสมอง และจะคอยส่งข้อมูลไปยังสมองส่วนต่างๆ เช่น ถ้ามองเห็นภาพ ก็จะส่งไปยังสมองส่วนรับภาพ และถ้าเป็นการฟัง ก็จะส่งต่อไปยังส่วนการรับฟัง ฯลฯ
และเมื่อกระบวนการ ส่งข้อมูลถูกต้องครบถ้วน สมองที่ทำหน้าที่หลักเกี่ยวกับความจำคือ ฮิปโปแคมปัส และอะมิกดาลา จะรับช่วงต่อว่าจะจัดการข้อมูลนั้นๆ อย่างไร
ถ้า ข้อมูลที่เป็นเรื่องราวปกติ ฮิปโปแคมปัสจะเก็บไว้จนกว่าจะถูกลำเลียงเข้าไปอยู่ในความทรงจำระยะยาวบริเวณ สมองส่วนหน้า และจัดเข้าไปอย่างเป็นระเบียบเพื่อจะนำไปใช้ในอนาคต
แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เป็นหน้าที่ของอะมิกดาลา
ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) อยู่ลึกเข้าไปในสมองส่วนขมับ ทำหน้าที่จัดกระบวนความรู้ที่ปรากฏจริงรอบๆ ตัวเรา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดเก็บข้อมูลจากความทรงจำระยะสั้น เข้าไปเก็บไว้ระบบ ความทรงจำระยะยาว ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่จะนำไปใช้ตลอดชีวิต
การ จัดเก็บความทรงจำในเด็กอายุก่อน 10 ปี จะเกิดขึ้นในขณะเด็กหลับ จึงเป็นเหตุผลว่าเด็กควรได้นอนเต็มที่อย่างน้อย 9-10 ชั่วโมงต่อวัน
อะมิกดาลา (Amygdala) อยู่บริเวณสมองส่วนกลาง เป็นศูนย์กลางของอารมณ์ โดยเฉพาะความรู้สึกพื้นฐาน เช่น ความกลัว ความก้าวร้าว ทำหน้าที่จัดระบบด้วยความรู้สึก
ในช่วงวัยรุ่นจะใช้สมองส่วนนี้มาก จึงไม่แปลกถ้าวัยรุ่นจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
และ นั่นหมายรวมไปถึงว่า เหตุใดเวลามีเรื่องราวประทับใจ หรือมีเรื่องเศร้ากระทบกระเทือนจิตใจ เราจึงสามารถจดจำได้ดี ก็เพราะสมองส่วนนี้ทำงานนั่นเอง
ฉะนั้น การที่จะทำให้เด็กมีความจำที่ดี พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่ามีส่วนสัมพันธ์กับสมอง เด็กจะมีความจำดีได้ ต้องเริ่มจากการรับข้อมูล และมีกระบวนการเรียนรู้เบื้องต้นที่ดีก่อน
และ...การรับข้อมูลที่ดีที่สุด คือ รับผ่านประสาทสัมผัส
การ เรียนรู้จะเกิดได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อมีการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ เพื่อให้เซลล์ประสาทในสมองรับความรู้สึกต่างๆ ทั้งการมองเห็นภาพ ได้ยินเสียง รับรู้กลิ่น ได้รับความรู้สึกทางผิวหนัง ความรู้สึกที่ได้รับจะถูกส่งไปยังเซลล์ประสาทที่อยู่ในสมอง
เมื่อสมองทำการกรองจัดลำดับความสำคัญแล้วก็จะถูกบันทึกไปยังส่วนความจำ
ฉะนั้น การให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสอย่างสม่ำเสมอ ด้วยอารมณ์และความรู้สึกในขณะที่เรียนรู้เป็นด้านบวก ก็จะยิ่งทำให้ความทรงจำที่ดีเข้าไปประทับอยู่ในสมองเด็กมากขึ้น
ยิ่ง ถ้าวัยขวบปีแรก เด็กได้รับการรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสในด้านบวกอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้เด็กทีแนวโน้มมีความจำที่ดีเมื่อโตขึ้น
การ มีความจำที่ดี นอกจากผู้ใหญ่ต้องส่งเสริมให้เด็กได้ประสบการณ์ต่างๆ แล้ว ยังต้องขึ้นกับสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ด้วย เด็กควรได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างเพียงพอเหมาะกับวัย และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ รวมถึงสภาวะจิตใจที่พร้อมด้วย
แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของคน เป็นพ่อแม่ที่มีลูกเล็กมักจะมีคำถามเรื่องความจำที่เอนไปเกี่ยวข้องกับ เรื่องการเรียนเป็นส่วนใหญ่ เช่น ลูกเรียนหนังสือแล้วมักจำไม่ค่อยได้ ต้องท่องจำซ้ำๆ บ่อยๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงต้องฝึกเรื่องการจำโดยการรับข้อมูลตั้งแต่วัยทารก ไม่ใช่ฝึกเมื่อตอนเข้าโรงเรียน
ที่สำคัญ คนเป็นพ่อแม่ต้องเข้าใจด้วยว่า เด็กบางคนเรียนวิชาท่องจำ ทำได้ดี ในขณะที่เด็กบางคนไม่ถนัดเรื่องการท่องจำ แต่ชอบเรื่องการทำความเข้าใจ ก็เพราะมีความแตกต่างในเรื่องของสมอง แต่ถ้าเด็กบางคน ขยันหมั่นท่องจำบ่อยๆ ซ้ำๆ ท้ายสุดก็สามารถจำได้
และ นั่นหมายความว่า ต้องกลับไปดูตั้งแต่การรับข้อมูลของเด็กด้วยว่า เป็นอย่างไร แล้วเหตุใดต้องมีเทคนิคเกี่ยวกับความจำ โดยสังเกตดูว่าลูกเราเรามีความถนัดในเรื่องใด การจะเสริมให้ลูกมีความจำที่ดีก็สามารถทำได้
เทคนิคเสริมสร้างความจำให้ลูก ?
หนึ่ง – ให้ลูกรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้
สอง – ฝึกฝนการจำแบบท่องจำ เพราะบางเรื่องราวต้องอาศัยการท่องจำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเรียน การทำงาน โดยเฉพาะบรรดาสูตรต่างๆ ที่ต้องอาศัยการท่องจำซ้ำๆ บ่อยๆ
สาม – ฝึกให้ลูกจดจำเรื่องราวเป็นเหตุการณ์ จะทำให้จดจำง่ายกว่าการจำเป็นท่อนๆ แต่ให้จำด้วยเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ เช่น “ลูกจำได้ไหม เราเคยไปในสถานที่นี้ด้วยกัน แล้วตอนนั้นลูกทำอะไรนะ ที่ทำให้ลูกได้ขนมเป็นรางวัล”
ข้อนี้อาจจะต้องใส่รายละเอียดให้จดจำเรื่องราวดีๆ ในทางบวก จะช่วยกระตุ้นความจำได้ดีขึ้น
สี่ – จำแบบซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการสังเกตว่าลูกถนัดในเรื่องใด เช่น ลูกจำตัวเลขเก่ง ก็พยายามเชื่อมโยงเรื่องราวนั้นๆ ด้วยตัวเลข ก็จะทำให้ลูกจดจำเรื่องนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น
การสอนให้ ลูกมีความจำที่ดี ต้องเริ่มสร้างตั้งแต่เล็ก เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นสมองแห่งการเรียนรู้ของลูก โดยจะเชื่อมต่อมาจากการรับรู้ ถ้าการรับรู้ในเบื้องต้นดีแล้ว กระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงไปสู่สมองก็จะเป็นระเบียบ และทำให้เด็กสามารถจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
จริงๆ เรื่องสอนให้ลูกมีความจำที่ดีไม่ใช่เรื่องยาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น