ไขมันในเลือด
ไขมันในเลือดมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ โคเลสเตอรอล และ ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันในเลือดของมนุษย์มาจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ จากอาหารที่บริโภคเข้าไป และจากอวัยวะภายในร่างกายผลิตขึ้นเอง
โคเลสเตอรอล
โคเลสเตอรอล เป็นไขมันที่พบเฉพาะในสัตว์เท่านั้น ค่าโคเลสเตอรอลที่วัดได้จากในเลือด จะเป็นผลรวมของ LDL Cholesterol (ไขมันเลว), HDL Cholesterol (ไขมันดี) และ VLDL Cholesterol (ไขมันที่ไม่สามารถหาปริมาณโดยตรงได้ ต้องหาจากการคำนวณ)
โคเลสเตอรอลรวม = LDL Cholesterol + HDL Cholesterol + VLDL Cholesterol
VLDL Cholesterol = ไตรกลีเซอไรด์ / 5 (เมื่อ ไตรกลีเซอไรด์ < 400 มก/ดล เท่านั้น)
LDL Cholesterol (ไขมันเลว) ถ้ามีปริมาณสูงขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงตีบ
HDL Cholesterol (ไขมันดี) ถ้ามีปริมาณสูงขึ้น จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงตีบ
สิ่งที่กระตุ้นให้ร่างกายผลิต LDL Cholesterol (ไขมันเลว) ในปริมาณที่สูงกว่าปกติ คือ
ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
และการบริโภคอาหารจำพวกไขมันอิ่มตัว (ไขมันจากสัตว์ กะทิ และน้ำมันปาล์ม) ในปริมาณสูง
สิ่งที่ยับยั้งให้ร่างกายผลิต HDL Cholesterol (ไขมันดี) ในปริมาณที่ต่ำกว่าปกติ คือ
การมีน้ำหนักตัวเกิน
ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การสูบบุหรี่
และการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป
ไตรกลีเซอไรด์
ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันที่พบได้ทั้งในพืชและสัตว์ ผลของการมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงตีบได้บ้าง แต่ไม่รุนแรงเท่า LDL Cholesterol (ไขมันเลว)
สิ่งที่มีผลกระตุ้นให้ร่างกายผลิตไตรกลีเซอไรด์ ในปริมาณที่สูงกว่าปกติคือ
ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
การมีน้ำหนักตัวเกิน
การดื่มเหล้า
และการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป
การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ
คนที่มีระดับไขมันในเลือดสูง อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาลดไขมันในเลือด ก่อนการตัดสินใจใช้ยาลดไขมันในเลือด แพทย์จะมีเกณฑ์ว่า ควรจะใช้ยาหรือไม่และในปริมาณเท่าไหร่ โดยพิจารณาจาก ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ ของผู้ป่วยแต่ละราย วิธีประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ มีหลายวิธี ในที่นี้เราจะใช้วิธีของ National Cholesterol Education Program Adult Treatment Panel III Guidelines
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบมีดังนี้
อายุ: ชาย >45ปี, หญิง > 55ปี
มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบก่อนวัยอันควร (ชายก่อนอายุ 55 ปี และหญิงก่อนอายุ 65 ปี)
เป็นโรคความดันโลหิตสูง
สูบบุหรี่
ค่า HDL Cholesterol ในเลือด < 40มก./ดล.
คนที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดแดงสมองตีบ หลอดเลือดแดงที่ขาตีบ หรือโรคเบาหวาน ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ หมายความว่า 20% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบภายใน 10 ปีข้างหน้า
คนที่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นตั้งแต่สองข้อขึ้นไป ถือว่ามีความเสี่ยงปานกลางต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ หมายความว่า 10-20% ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบภายใน 10 ปีข้างหน้า
คนที่มีปัจจัยเสียงข้างต้นไม่เกิน 1 ข้อ ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น